พระอนุสาวรีย์และพระอนุสรณ์ ของ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้ทรงปฏิบัติภารกิจสำคัญน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีการสร้างพระอนุสาวรีย์ขึ้น และพระอนุสรณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น

พระอนุสาวรีย์ ณ กรมการบินพลเรือน

อันเนื่องด้วยจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีพระดำริ ให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นและได้ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมจนกิจการบิน ในปี พ.ศ. 2456 ต่อมากองทัพอากาศจึงได้สร้างพระอนุสาวรีย์เป็นพระรูปปั้นประทับยืนเต็มพระองค์ ประดิษฐานไว้ที่หน้ากรมการบินพลเรือน (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)) ทำพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2500[42]

พระอนุสาวรีย์ ณ ค่ายจักรพงษ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ค่ายจักรพงษ์ ตำบลดงพระราม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2515[43][ลิงก์เสีย]

พระอนุสาวรีย์ ณ กองบังคับการกองบิน 2

อันเนื่องด้วยจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศ ทางกองบิน 2 จึงให้มีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้น บริเวณหน้ากองบังคับการกองบิน 2 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติยศ และเป็นศูนย์รวมจิตใจในการปฏิบัติหน้าที่และภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ ที่ กองบังคับการกองบิน 2 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี


พระอนุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พระองค์เป็นผู้ทรงก่อตั้งวางรากฐานโรงเรียนนี้มาแต่เริ่มแรก และเมื่อครั้งได้สร้าง “อาคารประภาสโยธิน” ซึ่งเป็นอาคารถาวรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงได้ถือโอกาสสร้าง และอัญเชิญอนุสาวรีย์พระองค์ มาประดิษฐานคู่กับอาคารหลังนี้ และได้จัดพิธีเฉลิมฉลองพร้อมกับอาคารประภาสโยธิน เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีที่ 60 ของการสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นับตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ 3 เมษายน ของทุกปี บรรดาศิษย์เก่าของสถาบันจะพากันมาวางพวงมาลาถวายสักการะแด่พระอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน[5][ลิงก์เสีย]

ตึกจักรพงษ์ ณ สภากาชาด

ตึกจักรพงษ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยเงินบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน เพื่อให้เป็นอนุสรณ์เชิดชูเกียรติคุณของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ซึ่งได้เสด็จทิวงคต โดยมีนายฮี ลี สถาปนิกที่ปรึกษาของกรมเกียกกายทหารบก เป็นผู้ออกแบบ และนายยี อี กอลโล นายช่างในกองก่อสร้างกรมสุขาภิบาล เป็นวิศวกร ได้ทำพิธีเปิดตึกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466[44]

ตึกจักรพงษ์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ในปี พ.ศ. 2473 ก่อสร้างตึกจักรพงษ์สำหรับเป็นที่ทำการของสโมสรนิสิต เป็นอนุสรณ์แด่พระบิดาคือจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ประทานแนวคิดองค์กรบริหารของนิสิต[45] ตึกจักรพงษ์ ตั้งอยู่ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเปิดเป็นหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[46][ลิงก์เสีย]

ถนนจักรพงษ์ โรงพยาบาลศิริราชมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2517 ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) พลเอก กฤษณ์ สีวะราได้มอบอาคารเรียน อุปกรณ์ ที่ดิน และ ทรัพย์สินให้กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบกสังกัดกรมอาชีวศึกษา และเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงกองทัพบก กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ขอพระราชทานนาม "จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ" ซึ่งเป็นเสนาธิการกองทัพบกเป็นชื่อแทน "โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบก" โดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ"[47] ซึ่งทางวิทยาเขตจะจัดให้วันที่ 13 มิถุนายน เป็นวัน "จักรพงษ์" โดยจะมีพิธีวางพวงมาลาบริเวณหน้าพระอนุสาวรีย์ และพิธีถวายตัว ซึ่งเป็นประเพณีที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของทุกสาขาวิชา จะต้องเข้าร่วมพิธี เพื่อก้าวเข้ามาเป็น ลูกเจ้าฟ้า ฯ อย่างเต็มตัว

ถนนจักรพงษ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนจักรพงษ์ขึ้น[48] ซึ่งตั้งมาจากพระนามของพระองค์ อยู่ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ถนนเจ้าฟ้าถึงสะพานนรรัตน์สถาน (สะพานข้ามคลองรอบกรุง) เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงชนะสงครามกับแขวงตลาดยอด และถนนจักรพงษ์อีกแห่ง อยู่ในโรงพยาบาลศิริราช โดยเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จนิวัติกรุงเทพชั่วคราว ระหว่างทรงศึกษาวิชาทหารที่รัสเซีย ได้เสด็จมาโรงพยาบาลศิริราช และทรงเห็นว่าถนนไม่เรียบร้อย เดินลำบาก จึงประทานเงินสร้างถนนจากท่าน้ำยาวไปกลางโรงพยาบาลจนถึงตึกแพทยาลัย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาลขณะนั้น จึงตั้งชื่อถนนว่า "ถนนจักรพงษ์"[49][ลิงก์เสีย]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ http://203.155.220.217/pathumwan/wellpathum/chulau... http://203.155.220.230/passbkk/passbkk.htm http://www.13june-cpc.com/wizContent.asp?wizConID=... http://www.13june-cpc.com/wizContent.asp?wizConID=... http://thaiairways21.blogspot.com/2017/02/blog-pos... http://www.eduzones.com/knowledge-2-2-33095.html http://www.eduzones.com/knowledge-2-2-33490.html http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_04.html http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_11.html http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/20...